วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

การเขียนรายงานเชิงวิชาการ


การเขียนรายงานทางวิชาการ
โดย อจ.ประสิทธิ์ พงศ์อุดม
ความนำ
การเขียนรายงาน คือการเขียนเสนอผลงานที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าหรือปฏิบัติงานอย่างหนึ่งอย่างใดโดยละเอียด เพื่อให้อาจารย์ผู้สั่งงานหรือผู้สนใจทั่วไปพิจารณา โดยปรกติการเขียนรายงานทางวิชาการในชั้นเรียนมีเป้าหมายสำหรับอาจารย์ผู้สอนหรือผู้สั่งงานเป็นสำคัญ ลักษณะการนำเสนอรายงาน มีรายละเอียดดังนี้
รูปแบบ การจัดทำรายงานประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
1.             ชื่อเรื่อง
2.             ชื่อผู้ทำรายงาน
3.             คำนำ
4.             สารบัญ
5.             บทนำ
6.             เนื้อหา
7.             บทสรุป
8.             บรรณานุกรม
ลักษณะต่างๆ ของรูปแบบรายงาน
ชื่อเรื่อง ชื่อเรื่องที่ดีควรเป็นชื่อเรื่องที่กะทัดรัด บอกบรรยากาศของเนื้อหาที่ชัดเจน และมีขอบข่ายที่แน่นอน
ชื่อผู้ทำรายงาน ผู้ทำรายงานอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ตามการสั่งงานของผู้สอน
อนึ่ง ในการเสนอรายงานต่ออาจารย์ผู้สอนต้องจัดทำหน้าปกที่แสดงถึงรายละเอียดต่างๆ คือชื่อเรื่อง ชื่อผู้จัดทำรายงาน ชื่ออาจารย์ที่นำเสนอ ชื่อกระบวนวิชา ภาคเรียน ปีการศึกษา สาขา คณะ และสถาบันการศึกษา ดังตัวอย่าง
รายงานเรื่อง
แนวคิดและบทบาทของ ศจ.แดเนียล แมคกิลวารี ในการสร้างผู้นำคริสตจักรไทยในภาคเหนือ
โดย
นางสาวเฉลียวฉลาด ล้ำเลิศปัญญานิรันด
เสนอ
อาจารย์ประสิทธิ์ พงศ์อุดม
รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชา ทศ.341 ประวัติศาสตร์คริสตจักร 3
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2541
สาขาคริสต์ศาสนศึกษา คณะศาสนศาสตร์แมคกิลวารี มหาวิทยาลัยพายัพ
คำนำ คำนำของรายงาน คือข้อตกลงเบื้องต้นระว่างผู้ทำรายงานกับผู้อ่านรายงานที่จะช่วยให้การอ่านรายงานนั้นถูกต้อง และได้ผลดียิ่งขึ้น คำนำไม่ใช่ข้อแก้ตัวหรือออกตัวของผู้ทำรายงาน
สารบัญ เป็นองค์ประกอบของรายงานที่จะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านรายงานได้ทราบถึงสาระภายใน และสารบัญนี้ยังช่วยให้ผู้ทำรายงานมีแนวทางในการเขียนนำเสนอของตนด้วย
บทนำ คือคำอธิบายที่บอกให้ทราบว่า การทำรายงานนั้นมีความมุ่งหมายอย่างไร งานค้นคว้ากว้างแคบเพียงใด ใช้วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้าอย่างไร เป็นกติกาตกลงก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา
เนื้อหา คือข้อมูลทั้งปวงที่ได้จากการเลือกสรรเอาจากการศึกษาค้นคว้าทั้งหมดและได้จัดระเบียบข้อมูลที่ได้เลือกสรรแล้วนั้นเป็นอย่างดี เป็นข้อมูลที่มีความถูกต้อง กว้างขวางและลึกซึ้ง ซึ่งต่างเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยพิสูจน์สมมติฐานที่ตั้งไว้ว่าเป็นจริงหรือไม่
เนื้อหาของรายงานที่นำข้อมูลทั้งปวงมาเสนอต้องอ้างหลักฐานที่มาให้ถูกวิธี (อ้างปนกับเนื้อหาหรือทำเชิงอรรถ ในทางมนุษยศาสตร์นิยมการอ้างแบบเชิงอรรถเพราะสามารถพิสูจน์สืบค้นหรือเข้าใจได้ง่าย)
บทสรุป เป็นการสรุปผลการศึกษาค้นคว้า มีการอภิปรายถึงผลการศึกษาค้นคว้าและข้อเสนอแนะ
บรรณานุกรม คือบัญชีรายชื่อแหล่งอ้างอิงข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้นๆ ซึ่งจัดเรียงไว้ตามลำดับอักษรของชื่อผู้แต่ง หรือชื่อหน่วยงานของผู้ที่เป็นเจ้าของ โดยแต่ละรายการจะบอกชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ หรือชื่อเรื่อง บอกแหล่งพิมพ์ (สำนักพิมพ์ หรือชื่อวารสาร หรือนิตยสารที่บ่งบอกเลขบอกฉบับ) บอกปีที่พิมพ์เผยแพร่ ในกรณีที่เอามาจากวารสารหรือนิตยสารให้บอกหน้าที่ข้อความนั้นปรากฏด้วย
ระดับภาษาในการเขียนรายงาน
ภาษาที่ใช้ในการเขียนรายงานต้องใช้ภาษาระดับมาตรฐานเป็นภาษาทางวิชาการหรือกึ่งวิชาการตามความเหมาะสม
ภาษาแบบทางการหรือภาษาราชการ (Formal Language) ที่ใช้ในงานเขียนทางวิชาการหรืองานเขียนสำหรับพิธีการต่างๆ มีลักษณะดังนี้
  • 1. ใช้คำและข้อความที่สุภาพ ศัพท์บัญญัติ ศัพท์ทางราชการ
  • 2. ใช้คำเต็มไม่ใช้คำย่อ สำหรับตำแหน่ง ยศ คำนำหน้าหรือคำย่ออื่นๆ
  • 3. ใช้ภาษาระดับเดียวกัน ไม่ใช้ภาษาแสลงหรือภาษาถิ่น
  • 4. เขียนเป็นรูปประโยคสมบูรณ์ ไม่ตัดทอน
  • 5. ข้อเขียนเป็นทางการ เป็นกลาง เคร่งขรึม
  • 6. ไม่ใช้คำแสดงอารมณ์ โต้แย้ง เล่นสำนวนโวหาร
ลักษณะของภาษากึ่งทางการมีดังนี้ คือ
  • 1. ใช้ภาษาสุภาพที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวัน
  • 2. รูปประโยคอาจตัดทอนได้
  • 3. คำย่อที่เป็นที่ยอมรับก็ใช้ได้
  • 4. อาจใช้สำนวนโวหารแสดงอาการได้ แต่ไม่หยาบคาย
  • 5. ไม่เคร่งครัด อาจมีการผ่อนคลาย ตลกขบขันได้
กลวิธีในการเสนอเนื้อหา
  • 1. เมื่อจะเขียนรายงานเรื่องใดให้ศึกษาค้นคว้าเรื่องต่างๆ ที่สอดคล้องกับเชื่อเรื่องที่จะเขียน จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • 2. จดบันทึกข้อความที่พาดพิงถึงเรื่องนั้นไว้อย่างเป็นระเบียบ
  • 3. จำแนกข้อมูลที่ได้ประเด็นต่างๆ แล้วจัดเข้าเป็นหมวดหมู่
  • 4. พิจารณาเลือกสรรเนื้อหาเฉพาะที่เป็นประโยชน์
  • 5. จัดระเบียบข้อมูลทั้งปวงเป็นระบบแล้วเขียนรายละเอียดข้อมูลนั้นตามลำดับความสัมพันธ์
แบบการเขียนเชิงอรรถและบรรณานุกรมที่ใช้บ่อย
การเขียนเชิงอรรถ
หนังสือ
1ประสิทธิ์ พงศ์อุดม, ป้อเก๊า แม่เดิม : ประวัติศาสตร์ชุมชนคริสเตียนดอยสะเก็ด (กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์, 1993), หน้า 11.
2 เรื่องเดียวกัน, หน้า 18.
3 Lillian Johnson Curtis, The Laos of North Siam (New York : Fleming H. Revell Company, 1903), p. 269.
4 ประสิทธิ์ พงศ์อุดม, "ป้อเก๊า แม่เดิม : ...., หน้า 32.
5 John H Freeman, An Oriental land of the Free (Philadelphia : The Westminster Press, 1910), p.232.
6 lbid., p. 275.
7 Curtis, The Laos of North Siam, p. 285.
8 Daniel McGilvary, A Half Century Among the Siameses and Laos (New York : Fleming H. Revell Company, 1912), p.327.
บทความในหนังสือ
เฮอร์เบิท อาร์ สวอนสัน, "การนำคริสต์ศาสนาเข้าสู่สังคมไทย : กรณีคริสตจักรเพชรบุรี," ใน ศาสนาคริสต์ - มิชชันนารี - สังคมไทย, เฮอร์เบิท อาร์ สวอนสัน และประสิทธิ์ พงศ์อุดม, บรรณาธิการ (เชียงใหม่ : เจริญการพิมพ์, 1992) : 131.
วิทยานิพนธ์
ประสิทธิ์ พงศ์อุดม,. "การถ่ายทอดวิทยาการตะวันตกในสังคมไทย : ศึกษาบทบาทของมิชชันนารีโปรเตสแตนท์ ระหว่าง พ.ศ. 2371 - 2411," (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533), หน้า 29.
วารสาร
1 Jonathan Wilson, "Victims of Superstition," Woman's Work for Woman 5 (May 1883): 148-150.
2 ชาวเหนือ (นามแฝง), "ข่าวจากโรงเรียนพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี เชียงใหม่," ข่าวคริสตจักร 7 (มกราคม 1935) : 66.
3 คำมูล ชินวงศ์, "คริสตจักรที่สาบสูญ : วังหมุ้น," เพื่อนผู้นำ 4(มีนาคม-เมษายน 1992) : 34.
เอกสาร
1 Daniel McGilvary to Cornelia McGilvary, May 18th 1887. จดหมายจากศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี, อยู่ที่หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่
2 คริสตจักรคุณานุคุณ, "สมุดบันทึกธรรมกิจคริสตจักรคุณานุคุณ, 1956-1970," 24 ตุลาคม 1967.
3 ธรรมกิจคริสตจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่, "รายงานการประชุมธรรมกิจคริสตจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่, ครั้งที่ 13/1995," 18-22 เมษายน 1995.
สัมภาษณ์
สัมภาษณ์นายสม มณีศักดิ์ โดยประสิทธิ์ พงศ์อุดม, วันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1988.
สัมภาษณ์นางธิดา กันยาคำ โดยคำมูล ชินวงศ์, วันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1992.
การเขียนบรรณานุกรม
หนังสือ
ประสิทธิ์ พงศ์อุดม. "ป้อเก๊า แม่เดิม : ประวัติศาสตร์ชุมชนคริสเตียนดอยสะเก็ด. กรุงเทพมหานคร :
ชวนการพิมพ์, 1993.
Curtis. Lillian Johnson. The Laos of north Siam. New York : Fieming H. Revell Company,1903.
Freeman. John H. An oriental land of the Free. Philadelphia : The Westminster Press,1910.
McGilvary. Daniel. A Half Century among the Siameses and Laos. New York : Fleming H. Revell Company, 1912.
บทความในหนังสือ
สวอนสัน, เฮอร์เบิท อาร์. "การนำคริสต์ศาสนาเข้าสู่สังคมไทย : กรณีคริสตจักรเพชรบุรี." ใน ศาสนาคริสต์-มิชชันนารี-สังคมไทย. หน้า 107-152. เฮอร์เบิท อาร์ สวอนสัน และประสิทธิ์ พงศ์อุดม.บรรณาธิการ. เชียงใหม่ : เจริญการพิมพ์. 1992.
วารสาร
Wilson, Jonathan ."Victims of Superstition," Woman's Work for Woman 5(May 1883) : 135-155.
ชาวเหนือ (นามแฝง). "ข่าวจากโรงเรียนพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี เชียงใหม่" ข่าวคริสตจักร 7 (มกราคม 1935) : 66.
คำมูล ชินวงศ์. "คริสตจักรที่สาบสูญ : วังหมุ้น," เพื่อนผู้นำ 4(มีนาคม-เมษายน 1992) : 30-34.
เอกสาร
McGilvary, Daniel จดหมายจากศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี. อยู่ที่หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่
คริสตจักรคุณานุคุณ. "สมุดบันทึกธรรมกิจคริสตจักรคุณานุคุณ, 1956-1970.
ธรรมกิจคริสตจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่, "รายงานการประชุมธรรมกิจคริสตจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่, ครั้งที่ 13/1995," 18-22 เมษายน 1995.
สัมภาษณ์
สม มณีศักดิ์.สัมภาษณ์สม มณีศักดิ์ โดยประสิทธิ์ พงศ์อุดม. วันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1988.
ธิดา กันยาคำ สัมภาษณ์นางธิดา กันยาคำ โดยคำมูล ชินวงศ์. วันที่ 15 พฤศจิกายน 1992.
แหล่งอ้างอิง:
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คู่มือการพิมพ์วิทยานิพนธ์. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.
เสาวนีย์ สิกขาบัณฑิต. การเขียนสำหรับการสื่อสาร. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ ดวงกมล,2534.
สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. การเขียน. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพ : ไทยวัฒนาพานิช, 2531.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น