วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ศิลปะการสื่อสารด้านคำประพันธ์ไทย

คำประพันธ์  หมายถึง  ถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์  โดยมีกำหนดข้อบังคับต่างๆ  เพื่อให้เกิดความครึกครื้นและมีความไพเราะแตกต่างไปจากถ้อยคำธรรมดา

ความเป็นมาของคำประพันธ์ไทย 

               คำประพันธ์ของไทยถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด  ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้  แต่ถ้าเชื่อตามที่เคยกล่าวกันมาว่าไทยเป็นชาตินักกลอนแล้ว  คำประพันธ์ของไทยต้องมีมาก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  จะทรงประดิษฐ์อักษรไทยในปี พ.ศ.๑๘๒๖  แต่เป็นคำประพันธ์ที่บันทึกไว้ในสมอง  และถ่ายทอดกันด้วยปากหรือที่เรียกว่า  “กลอนสด”  นั่นเอง

               คำประพันธ์หรือบทร้อยกรอง  มาปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกในวรรณคดีเรื่อง  “ลิลิตโองการแช่งน้ำ”  หรือ  “ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า”  ซึ่งเชื่อกันว่าแต่งใน  รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง พ.ศ. ๑๘๒๙-๑๙๑๒)  เป็นคำประพันธ์ประเภทโคลงกับร่าย

               ถ้าสังเกตดูในศิลาจารึกสุโขทัย  หลักที่ ๑ จะมีลักษณะคำประพันธ์  หรือบทร้อยกรองเพราะจะเห็นลักษณะสัมผัสซึ่งเกิดจากการใช้คำคล้องจองกัน  เช่น  “ในน้ำมีปลา  ในนามีข้าว”  “เพื่อนจูงวัวไปค้า  ขี่ม้าไปขาย”  “ไพร่ฟ้าหน้าใส”

               คำประพันธ์ไทยนี้  สำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม  ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕  ใช้เรียกวรรณกรรมประเภทที่มีลักษณะบังคับในการแต่ง  หรือมีการกำหนดคณะว่า “ร้อยกรอง”  ควบคู่กันกับคำว่า  “ร้อยแก้ว” อันเป็นความเรียง

               คำประพันธ์ที่เรียกว่า  ร้อยกรองในปัจจุบัน  โบราณเรียกกันหลายอย่าง เช่น  เรียกว่า  “กลอน”  ในลิลิตพระลอเรียกว่า “กาพย์”  ในกาพย์มหาชาติเรียกว่า “ฉันท์”  ในลิลิตยวนพ่ายเรียกว่า “กานท์”  ในทวาทศมาส  และเรียกอีกหลายอย่างเป็นต้นว่า “บทกลอน”  “กาพย์กลอน”  “บทกวี”  “กวีนิพนธ์”  “กวีวัจนะ”  “บทประพันธ์”  และ “คำประพันธ์”

ฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ 

               ฉันทลักษณ์  แปลว่า  ตำราว่าด้วยคำประพันธ์  หมายถึงระเบียบและข้อบังคับต่างๆ  ที่ใช้ในการแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ

รูปแบบของคำประพันธ์ไทย 

               รูปแบบของคำประพันธ์ไทย  หรือชนิดของคำประพันธ์  ได้แก่  ถ้อยคำที่นำมาเรียบเรียงกันโดยมีกำหนดเอาไว้เป็นแบบแผน  จำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ได้ ๕ ประเภทได้แก่

                                               ๑. กลอน                                ๒. โคลง

                                               ๓. ร่าย                                    ๔. กาพย์

                                               ๕. ฉันท์

  ซึ่งจะได้แยกกล่าวแต่ละประเภทอย่างละเอียดในบทต่อไป



ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ 

               ในการแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ  จะต้องรู้จักลักษณะที่สำคัญ  เกี่ยวกับการประพันธ์ต่อไปนี้

๑.       คณะ  คือข้อกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของคำประพันธ์แต่ละชนิด  ว่าจะต้องประกอบด้วย

ส่วนย่อยๆอะไรบ้าง

คำที่เป็นส่วนย่อยของคณะได้แก่  บท  บาท  วรรค  คำ

ลักษณะบังคับข้อนี้สำคัญมาก  คำประพันธ์ทุกชนิดจะต้องมี คณะ  ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นคำ

ประพันธ์  คณะเป็นสิ่งที่ช่วยกำหนดรูปแบบของคำประพันธ์แต่ละชนิดให้เป็นระเบียบ  เพื่อใช้เป็นหลักในการแต่งต่อไป

 ตัวอย่างคณะของโคลงสี่สุภาพ  มีดังนี้

               โคลงสี่สุภาพบทหนึ่งมี ๔ บาท  บาทที่ ๑,๒ และ ๓ มีบาทละ ๒ วรรคและมีจำนวนคำเท่ากันทั้ง ๓ บาท  คือ บาทละ ๗ คำ  ส่วนบาทที่  ๔  มี ๒ วรรคเช่นเดียวกัน  แต่จำนวนคำเพิ่มขึ้นในวรรคหลังอีก ๒ คำ  รวมเป็น  ๙ คำ

               คำว่า “คณะ” ยังมีที่ใช้อีกความหมายหนึ่ง  สำหรับคำประพันธ์ประเภทฉันท์  ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

๒.     พยางค์  คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ  บางทีก็มีความหมายเช่น  เมือง ไทย นี้ ดี  บางทีก็

ไม่มีความหมาย  แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำ  เช่น  ภิ  ในคำ  อภินิหาร  ยุ ในคำ ยุวชน  กระ ในคำ กระถาง  เป็นต้น

               เนื่องจากคำไทยเราแต่เดิมมีพยางค์เดียวโดยมาก  ฉะนั้นในการแต่งคำประพันธ์  เราถือว่าพยางค์ก็คือคำนั่นเอง  ในคำประพันธ์แต่ละชนิดมีการกำหนดพยางค์ (คำ) ไว้แน่นอน  ว่า วรรคหนึ่งมีกี่พยางค์ (คำ)

               ในคำประพันธ์ประเภทฉันท์  ซึ่งถือ ครุ  ลหุ  เป็นสำคัญ  เรานับแต่ละพยางค์เป็น ๑ คำเสมอ  เช่น  สุจริต  นับเป็น ๓ พยางค์  (๓คำ)  แต่ถ้าคำสุจริตไปอยู่ในโคลง  เช่น 

               “สุจริต  คือเกราะบัง  ศาสตร์พ้อง”  เรานับ เพียง ๒  คำเท่านั้น  คือให้รวมเสียงลหุ  ๒ พยางค์ที่อยู่ใกล้กันเป็น ๑ คำ

               และในทำนองเดียวกัน  ถ้าคำใดมี ๒ พยางค์  เป็นลหุพยางค์หนึ่ง เช่น กระถาง สมัคร ตลาด สะบัด  ก็อนุโลมให้นับเป็น ๑ พยางค์  (คำ) ได้

               จะเห็นได้ว่าในการนับพยางค์ (คำ)นั้น  ต้องแล้วแต่ลักษณะบังคับของร้อยกรองแต่ละประเภท  ซึ่งผู้แต่งคำประพันธ์จะต้องสังเกตให้ดี

๓.     สัมผัส  คือลักษณะที่บังคับให้ใช้คำคล้องจองกัน  สัมผัส  เป็นลักษณะที่สำคัญที่สุดในคำประพันธ์  ของไทย  คำประพันธ์ทุกชนิดจำเป็นต้องมีสัมผัส

ชนิดของสัมผัสที่สมควรรู้มี ๔ อย่างดังนี้

๑)  สัมผัสสระ  ได้แก่คำที่มีเสียงสระตรงกัน  ถ้ามีตัวสะกดก็ต้องเป็นตัวสะกดในมาตรา

เดียวกัน  เช่น

                นะ          สัมผัสกับ               ยะ           มะ           ค่ะ

                คน          สัมผัสกับ               จน          ก่น          ล้น

                ถาด         สัมผัสกับ               สาด        บาด        ขาด

                ชุน          สัมผัสกับ               มุ่น          คุ้น          ตุ๋น

               จะเห็นได้ว่าคำข้างต้นนี้แต่ะละชุดให้สระเดียวกัน  และใช้ตัวสะกดในมาตราเดียวกัน  แม้จะใช้วรรณยุกต์ต่างกัน  ก็ถือว่าสัมผัสกันได้

               มีข้อควรระวังว่า  อย่าใช้  สระเสียงสั้นสัมผัสกับสระเสียงยาว  แม้ว่าจะมีตัวสะกดเดียวกันก็ไม่ถือว่าสัมผัสสระกัน  เช่น  กิน  ไม่สัมผัสสระกับ  ปีน  ศีล  จีน  ตีน

๒)    สัมผัสอักษร  ได้แก่คำที่ใช้พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน  อาจเป็นตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะ

เดียวกัน  หรือพยัญชนะที่มีเสียงสูงต่ำเข้าคู่กันก็ได้  หรือพยัญชนะควบชุดเดียวกันก็ได้  เช่น

     กาง         สัมผัสอักษรกับ                    กีด           กั้น          กอด        กุ้ง

     คาน        สัมผัสอักษรกับ                    คาบ        คัด           ข้า           เฆี่ยน

     ปรุง        สัมผัสอักษรกับ                    ปราม      ปรับ        เปรียบ    เปรย

               ๓)  สัมผัสนอกเป็นสัมผัสบังคับ  ที่จะต้องมีบทประพันธ์ต่างๆได้แก่สัมผัสที่ส่งและรับกันระหว่างวรรค  ระหว่างบาท  และระหว่างบทและต้องเป็นสัมผัสสระ เท่านั้น เช่น        กลอน : 

                         จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น               อย่าคะคั้นตะคอกให้เคืองหู

                 โคลง  : 

                               ยามจนคนเคียดแค้น           ชิงชัง

                               ยามมั่งมีคนประนัง              นอบน้อม



รูปแบบการส่งสัมผัส  ซึ่งคำประพันธ์ทุกชนิดต้องใช้แบบใดแบบหนึ่ง  ดังต่อไปนี้              

๑.       แบบร่าย  มีลักษณะเด่น  คือ  ส่งสัมผัสต่อๆกันไปทุกวรรคตั้งแต่ต้นจนจบ

๒.     แบบกานท์  หรือกลอนหัวเดียว  มีลักษณะเด่นคือ  ส่งสัมผัสท้ายบาทเป็น     เสียงเดียวกันตั้งแต่บาทแรกจนบาทสุดท้าย

๓.     แบบกลอนสังขลิก  มีลักษณะเด่นคือ  ไม่มีสัมผัสระหว่างบท

๔.     แบบกลอนสุภาพ  มีลักษณะเด่นคือ  ส่งสัมผัสครบทั้งระหว่างวรรค  ระหว่าง  บาท  และระหว่างบท

๕.     แบบกาพย์  มีลักษณะเด่น  คือ  ทิ้งสัมผัสระหว่างวรรคในวรรคสุดท้าย  ของบท

ยานี 

 

ฉบัง 

 

สุรางคนางค์



๖.      แบบโคลง  มีลักษณะเด่น  คือ  ไม่มีสัมผัสระหว่างวรรค

โคลงสี่สุภาพ 

 

โคลงสุภาพ




๓)    สัมผัสใน  เป็นสัมผัสไม่บังคับ  ได้แก่คำสัมผัสที่คล้องจองกันอยู่ภายในวรรคเดียวกันอยู่

เป็นสัมผัสสระหรือสัมผัสอักษรก็ได้  สัมผัสในนั้นจะช่วยให้บทประพันธ์มีความไพเราะขึ้น

               ตัวอย่างสัมผัสใน เป็นสัมผัสสระ                     เป็นสัมผัสอักษร

               ในโลกนี้มีอะไรของไทยแท้                      ของไทยแน่นั้นหรือคือภาษา

ทั้งคนมีคนจนแต่ต้นมา                                          ใช้ภาษาไทยทั่วทุกตัวคน

             เรื่องของสัมผัสนี้  รองอำมาตย์เอกหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก  จิตรถึก)  ซึ่งเป็นนักปราชญ์และกวีในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  ได้จัดประเภทลักษณะของสัมผัสในเป็นพวกๆ ไว้ในหนังสือประชุมลำนำ  ดังนี้

               สัมผัสสระ แยกสัมผัสสระ เพื่อให้ไพเราะ คือ

๑.       สระเดียวกันเรียงสองคำ  เรียกว่า เทียบเคียง เช่น

พระวิโยคโศกเศร้าเปล่าเปลี่ยว                         เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา

๒.     สระเดียวกันเรียงกันสามคำ  เรียกว่า  เทียบเคียง เช่น

อมรแมนแม่นแม้นเจ้างามโฉม                          ถ้ารักนักมักหน่ายคล้ายอิเหนา

๓.     สองสระเรียงกัน  สระละสองคำ  เรียกว่า ทบเคียง  เช่น

จึงแย้มเยื้อนเอื้อนโอษฐ์โปรดประภาษ

แต่วิชาวาลีมีไฉนแม้นพระองค์ทรงเดชเจตนา

๔.     สระเดียวสองคำมีสระอื่นคั่นกลางหนึ่งคำ  อยู่ปลายวรรค  เรียกว่า  เทียมแอก  เช่น

ดูประเทืองเรืองแสงทองสาดส่อง

๕.     สระเดียวสองคำ  มีสระอื่นคั่นกลางหนึ่งคำ  อยู่ต้นวรรค  หรือกลางวรรค เป็น แทรกเคียง เช่น

ก้ามปูแลเชือกร้อยเขาห้อยท้าย                         เมื่อยามไร้แลงามกว่าชามดิน

ขย้ำเขี้ยวขบปากดังนาคเป็น                              ตาแม้นมองมุ่งสะดุ้งกาย

๖.      สระเดียวสองคำมีสระอื่นคั่นกลางสองคำ  เรียกว่า  แทรกแอก  เช่น

เราขอบใจจะเลี้ยงให้เที่ยงธรรม์

               ถ้าจะคิดจริงๆก็มีเพียง ๔ แบบคือ ตัดข้อ ๔ กับข้อ ๖ ออกไปได้  ส่วนสัมผัสในที่เป็นสัมผัสพยัญชนะ ท่านกำหนดได้ ๗ แบบดังนี้

๑.       ใช้พยัญชนะต้นตัวเดียวกันเรียงสองคำ  เรียกว่า  คู่  เช่น

จนลืมตัวมัวหมองเพราะต้องตา

เป็นทุกข์ร้อนรักนางถึงอย่างนี้

๒.     ใช้พยัญชนะเดียวกันเรียงกันสามคำ  เรียกว่า  เทียบคู่  เช่น

เขาว่าไว้หวานนักก็มักรา

อย่าถือใจแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์

จะได้ชูเชยชมสมเกสร

จงตรึกตราตรองความตามบุราณ

๓.     ใช้พยัญชนะเดียวกันเรียงสี่คำซ้อน  เรียกว่า  เทียบรถ  เช่น

เสียงจิ้งหรีดหวีดแว่ววิเวกใจ

ต้องตรึกตราตรอมจิตเพราะปิดความ

๔.     ใช้พยัญชนะตัวเดียวกัน  เรียงห้าคำซ้อน  เรียกว่า  เทียมรถ  เช่น

ยามกระสอบกรอบแกรกกระไกรกริก

                               พี่จำใจจำจากเจ้าพรากมา

                               มานึกหน้านิ่มน้องนวลผ่องพรรณ

๕.     ใช้พยัญชนะต้นเรียงกันเป็นสองคู่  เรียกว่า ทบคู่  เช่น

ขอหมายมั่นบุญเบื้องบุรพา (เพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้ง)

หม้อข้าวขันตกแตกกระจายราย (นิราศพระบาท)

มีรูปรากษสสองอสูรขยัน (นิราศพระบาท)

จะโครมครึก  เซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์

๖.      ใช้พยัญชนะเดียวสองคำมีพยัญชนะอื่นคั่นกลางหนึ่งคำ  เรียกว่า  แทรกคู่  เช่น

ขอหมายมั่นกว่าจะม้วยชนมาน

เสี่ยงผลที่ได้เพิ่มบำเพ็ญมา

เสียดายเกิดมาเกินน่าน้อยใจ

ดังป่าช้าพงชัฎสงัดคน

๗.     ใช้พยัญชนะเดียวสองคำ  มีพยัญชนะอื่นคั่นกลางสองคำ  เรียกว่า  แทรกรถ  เช่น

ก็เหมือนอกกระต่ายดงที่หลงเดือน

ดลใจมิตรอย่าให้เหมือนกับกรุงใหญ่

เห็นเทพีมีหนามลงราน้ำ

ถึงคลองขวางบางจากยิ่งตรมจิต

แต่เดือนยี่นี่ก็ย่างเข้าเดือนสาม

๔.  คำครุ  คำลหุ  เป็นคำที่บังคับใช้เฉพาะบทประพันธ์ประเภท  ฉันท์  เท่านั้น

คำครุ  ได้แก่คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา  เช่น  กา  ตี  งู  กับคำที่ประสมด้วย

สระเสียงสั้นหรือเสียงยาวก็ได้ที่มีตัวสะกด  เช่น  นก  บิน  จาก  รัง  นอน  และคำที่ประสมด้วยสระ  อำ  ไอ  ใอ  เอา  ซึ่งถือว่าเป็นเสียงมีตัวสะกด  ก็จัดเป็นคำครุด้วย

                      คำครุ  เวลาเขียนเป็นสัญลักษณ์  ใช้เครื่องหมายเหมือนไม้หันอากาศ      แทน

                      คำลหุ  ได้แก่คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ก กา  เช่น  จะ ติ  มุ  เตะ  และคำที่ใช้พยัญชนะคำเดียว  เช่น  ก็  บ่  ณ  ธ  นอกจากนี้คำที่ประสมด้วยสระอำ  บางทีก็อนุโลมให้เป็น  ลหุได้  เช่น  ลำ

                      คำลหุ  เวลาเขียนเป็นสัญลักษณ์  ใช้เครื่องหมายเหมือนสระอุ    ุ   แทน

๕.  คำเอก  คำโท  หมายถึงพยางค์ที่บังคับด้วย  ไม้เอก  และไม้โท  สำหรับใช้กับคำประพันธ์ประเภทโคลงเท่านั้น  มีข้อกำหนดดังนี้

                      คำเอก  ได้แก่  พยางค์ที่มีไม้เอกบังคับทั้งหมด  เช่น  จ่า  ปี่  ขี่  ส่อ  น่า  คี่  และพยางค์ที่เป็นคำตายทั้งหมด  จะมีเสียงวรรณยุกต์ใดก็ได้  เช่น  กาก  บอก  มาก  โชค  คิด  รัก

                      คำเอกโทษ  คือคำที่ไม่เคยใช้ไม้เอก  แต่เอามาแปลงใช้โดยเปลี่ยนวรรณยุกต์เป็นเอกเพื่อให้ได้เสียงเอกตามบังคับ  เช่น  เสี้ยม  เปลี่ยนเป็น  เซี่ยม , สร้าง  เปลี่ยนเป็น  ซ่าง ,  คำเช่นนี้อนุโลมให้เป็นคำเอกได้

                      คำโท  ได้แก่พยางค์ที่มีไม้โทบังคับทั้งหมด  เช่น  ถ้า  ป้า  น้า  น้อย  ป้อม  ยิ้ม 

                      คำโทโทษ  คือคำที่ไม่เคยใช้ไม้โท  แต่เอามาแปลงใช้โดยเปลี่ยนวรรณยุกต์เป็นโทเพื่อให้ได้เสียงโทตามบังคับ  เช่น  เล่น  เปลี่ยนเป็น  เหล้น  ,  ช่วย  เปลี่ยนเป็น  ฉ้วย  ,  คำเช่นนี้อนุโลมให้ใช้เป็นคำโทได้

๖.  คำเป็น  คำตาย 

                     คำเป็น  ได้แก่พยางค์ที่ผสมด้วยสระเสียงยาวในมาตราแม่ ก กา  เช่น  มา  ขี่  ถือ  ปู่  เมีย  กับพยางค์ที่ผสมด้วย  สระ  อำ  ไอ ใอ  เอา  เช่น  ทำ  ไป  ใส่  เขา  และพยางค์ที่สะกดด้วยมาตราแม่  กง  กน  กม  เกย  เกอว  เช่น  สั่ง  ถ่าน  ส้ม  ตาย  เร็ว

                     คำตาย  ได้แก่พยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น  ในมาตราแม่  ก กา  เช่น  จะ ติ  ผุ  และ  และพยางค์ที่สะกดด้วยมาตราแม่  กก  กด  กบ  เช่น  ปัก  นาค  ติด  มืด  เก็บ  สาป

                     คำตายนี้ใช้แทนคำเอกในโคลงได้

๗.  เสียงวรรณยุกต์  หมายถึงคำที่มีเสียงวรรณยุกต์ทั้ง  ๕  เสียง  เสียงวรรณยุกต์นี้เป็น

ลักษณะสำคัญที่ใช้บังคับในกลอนและกาพย์บางชนิด  เช่น  กลอนสุภาพ  คำสุดท้ายของวรรครับห้ามใช้เสียงสามัญ  เป็นต้น

                      เสียงวรรณยุกต์  มี ๕  เสียง  ดังนี้

               เสียงสามัญ  ได้แก่  พื้นเสียงคำเป็นของอักษรกลาง  และอักษรต่ำ  เช่น  การ  เดิน  ทาง  ลม  โชย  มา

               เสียงเอก  ได้แก่  เสียงอักษรกลางและอักษรสูงที่บังคับไม้เอก  เช่น  ก่น  จ่าย  เดี่ยว  ตุ่น  เขี่ย  ถ่าน  สิ่ง  กับเสียงอักษรกลางและอักษรสูงที่เป็นคำตาย  เช่น  จะ  จิก  บอก  ขอบ  ฉก  สาด  และเสียงอักษรต่ำที่มี  ห  นำ  และบังคับไม้เอกเช่น  หนุ่ม  หม่อม  เหลี่ยม

               เสียงโท  ได้แก่  เสียงอักษรกลางและอักษรสูงที่บังคับไม้โท  เช่น  กล้าม  ด้วย  ป้าย  ข้าว  เถ้า  สร้าง  กับเสียงอักษรต่ำที่บังคับไม้เอก  แต่อ่านเป็นเสียงโทเช่น  ฆ่า  ซุ่ม  เท่า  แน่  และคำตายอักษรต่ำที่ผสมด้วยสระเสียงยาว  เช่น  ครอก  โมก  เชือก  มาก

               เสียงตรี  ได้แก่  เสียงอักษรกลางที่บังคับไม้ตรี  เช่น  จุ๊  โต๊ะ  ป๊อก  และคำตายอักษรต่ำที่เป็นสระเสียงสั้น  เช่น  ชุ  นัด  รถ  พระ

               เสียงจัตวา  ได้แก่เสียงอักษรกลางที่บังคับไม้จัตวา  เช่น  จ๋อม  แป๋ว  เอ๋  กับพื้นเสียงคำเป็นอักษรสูง  เช่น  ขา  แผง  สาง  หาม  และพื้นเสียงคำเป็นอักษรต่ำ  ที่มี  ห  นำ  เช่น  หมา  หลาย  หนาม  เหลียว

๘.  คำนำ  หมายถึง  คำที่ใช้ขึ้นต้นสำหรับคำประพันธ์บางประเภท  เช่น

กลอนบทละคร  ขึ้นต้นด้วย  เมื่อนั้น  บัดนั้น  เป็นต้น

               กลอนบทดอกสร้อย  ขึ้นต้นด้วยคำ ๔ คำ  คำที่ ๑  และคำที่ ๓  ซ้ำกัน  คำที่ ๒ บังคับให้เป็น  เอ๋ย  ส่วนคำที่ ๔ เป็นคำอื่น  เช่น  ความเอ๋ยความรัก  วันเอ๋ยวันนี้  เป็นต้น

               กลอนบทสักวา   ขึ้นต้นด้วยคำว่า “สักวา”  เช่น สักวาดาวจระเข้ก็เหหก

๙.  คำสร้อย  คือคำที่ใช้เติมลงท้ายวรรค  ท้ายบาท  หรือท้ายบท  เพื่อความไพเราะหรือเพื่อให้ครบจำนวนคำตามลักษณะบังคับ  บางแห่งก็ใช้เป็นคำถาม  หรือใช้ย้ำความ

               คำสร้อยนี้ใช้เฉพาะในโคลงและร่าย  และมักจะเป็นคำเป็น  เช่น  แลนา  พี่เอย  ฤาพี่  นาพ่อ  แม่แล  น้อยเฮย  หนึ่งรา

               ตัวอย่าง  คำสร้อย                                              

โคลง ๒

                   จำใจจรจากสร้อย                 อยู่แม่อย่าละห้อย

               ห่อนช้าคืนสม                          แม่แล

(ลิลิตตะเลงพ่าย :  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)

 โคลง ๓

             ภูบาลอื้นอำนวย                   อวยพระพรเลิศล้น

     จงอยุธย์อย่าพ้น                            แห่งเงื้อมมือเทอญ    พ่อนา

(ลิลิตตะเลงพ่าย :  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)

   โคลง ๔

          เอียงอกเทออกอ้าง               อวดองค์  อรเอย

 เมรุชุมสมุทรดินลง                         เลขแต้ม

 อากาศจักจานผจง                         จารึก พอฤา

 โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม                      อยู่ร้อนฤาเห็น

นิราศนรินทณ์ :  นายนรินทร์ธิเบศร์(อิน)

  ร่าย

               ธไคลพลคล่ำคล้าย  แลนา  ย้ายมาโดยรัตยา  แลนา  คลาทางบ้านสระแก้ว แลนา  แคล้ว

ทางบ้านสระเหล้า แลนา...  คอยจักผจญศึกกล้า  อยู่กระชั้นค่ายหน้า  ซึ่งตั้งขัดพล  อยู่นา

(ลิลิตตะเลงพ่าย :  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)

   ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ทั้ง ๙ ประการ ดังกล่าวมาแล้วนั้น  พอสรุปเป็นลักษณะบังคับของคำประพันธ์แต่ละประเภทได้ดังนี้คือ

ตารางแสดงลักษณะบังคับของคำประพันธ์